ของฝากจากเมืองน่าน
ผลไม้-อาหารพื้นเมือง
ผลไม้ที่มีชื่อของจังหวัด ได้แก่ ส้มสีทอง มะไฟจีน ลิ้นจี่ และต๋าว หรือ ตาว (เป็นชื่อปาล์มชนิดหนึ่งใบคล้ายมะพร้าว ออกผลเป็นทะลาย เนื้อในเมล็ดอ่อน เรียกว่า ลูกชิด เชื่อมกินได้ ) หาชิมได้ไม่ยาก และราคาย่อมเยา ที่ “ กาดเช้า” หรือตลาดเช้า ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองหรือตลาดก่อนถึงทางขึ้นพระธาตุเขาน้อย และที่
“ กาดแลง” หรือตลาดเย็น ( เริ่มประมาณบ่ายสามโมง) หน้าโรงแรมเทวราช อาหารท้องถิ่นเมืองน่านอุดมด้วยเครื่องสมุนไพร ผักพื้นบ้านเครื่องเทศ โดยเฉพาะมะแข่น ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิด เช่น ยำลาบ ยำชิ้นไก่ แกงขนุน และแกงผักกาด รับประทานกับข้าวนึ่งร้อน ๆ อาหารพื้นบ้านเมืองน่านหลายชนิด คล้ายกับอาหารล้านนาทั่วไป เช่น ไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง และแกงฮังเล แต่บางชนิดเป็นอาหารเฉพาะถิ่น และมีให้รับประทานในบางฤดูกาลเท่านั้น
ไค ( อ่านว่า “ ไก”) ไค เป็นพืชน้ำ มีเส้นสีเขียวยาวเหมือนเส้นผม งอกตามหินผาใต้ลำน้ำโขงมีขนาดใหญ่และยาวกว่า “ เทา” ( อ่านว่า “ เตา”) ซึ่งเป็นพืชประเภทเดียวกันที่ขึ้นตามห้วย หนอง คลอง บึง และนาข้าว แต่คนเมืองน่านเรียกสาหร่ายจากแม่น้ำว่า “ ไค” และ “ เตา” ส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำน่าน นอกจากนั้นยังมีจากแม่น้ำว้า ถือเป็นดัชนีบ่งชี้ความสะอาดของน้ำได้เป็นอย่างดี หารับประทานได้ในฤดูหนาว และไคนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง อาทิ แกงไค ห่อนึ่งไค และไคพรุ่ย
- แกงไค ( อ่านว่า “ แก๋งไก”) มีทั้งแกงไคแบบไม่ใส่เนื้อและใส่เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อปลาดุก หรือปลาช่อน หากเป็นแกงไคใส่เนื้อนอกจากพริกแกงที่ประกอบด้วยพริกสด กระเทียม หอม ปลาร้าหรือกะปิแล้ว จะใส่เถาสะค้าน ( เป็นไม้เถา ใช้ทำยาได้ เรียกว่า ตะค้านก็ได้) ข่าอ่อน และใบมะกรูด
- ห่อนึ่งไค คล้ายห่อหมกในภาคกลางเพียงแต่ไม่ใส่กะทิ มีทั้งห่อนึ่งไคไม่ใส่เนื้อ โดยนำไคมาผสมกับเครื่องแกงซึ่งประกอบด้วยพริกแห้ง หอม กระเทียม กะปิ หรือปลาร้า และใบมะกรูด นำไปห่อใบตองแล้วนึ่ง
น้ำปู หรือที่ทางเหนือเรียก “ น้ำปู๋” ทำจากปูนาโขลกผสมกับตะไคร้ และขมิ้น แล้วกรองแต่น้ำจากนั้นนำไปเคี่ยวไฟอ่อน ๆ พร้อมตะไคร้ ขมิ้น พริกป่น เกลือ และน้ำมะนาว จนกว่าน้ำจะงวดข้น น้ำปูใช้ปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงหน่อไม้ ยำหน่อไม้ และน้ำพริกปู
แกงส้มเมือง ต่างจากแกงส้มภาคกลางที่ใส่น้ำมะขามเปียก แกงส้มเมืองน่านมีสีเหลืองจากน้ำขมิ้น หอม เครื่องแกงที่ประกอบด้วยตะไคร้ ขมิ้น พริกชี้ฟ้า หรือพริกขี้หนูสด หอมแดง กะปิ ที่โขลกเคล้าด้วยกัน ใส่มะเขือเทศ ผักบุ้ง ตำลึง และผักกูด ก่อนเนื้อปลาสุกใส่ใบแมงลักให้หอมเติมมะนาว หรือใส่ใบส้มป่อยด้วยก็ได้
ส้มสีทอง เริ่มมีการปลูกมาตั้งแต่ปี พ . ศ. ๒๔๖๘ หมื่นระกำ ผู้คุมเรือนจำจังหวัดน่านเป็นผู้นำมาปลูกครั้งแรก ส้มสีทองให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในกลางเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคม
องุ่นดำน่านฟ้า ได้รับชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ เป็นองุ่นพันธุ์ดีจากไต้หวัน
มะไฟจีน แหล่งเดิมอยู่ที่ประเทศจีนเชื่อว่าชาวจีนเป็นผู้นำมาปลูกในจังหวัดน่านเมื่อประมาณ ๘๐ ปีมาแล้ว เป็นผลไม้ที่มีอยู่ที่จังหวัดน่านเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีสรรพคุณเป็นยา คือช่วยระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจโล่งจมูก ชุ่มคอ รับประทานสดตอนที่ผลแก่จัดมีรสหวาน หรือตากแห้งแล้วแช่อิ่ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น